"ถ้าครูไม่ห่วงประโยชน์ที่ควรจะห่วง หันไปห่วงอำนาจ ห่วงตำแหน่ง ห่วงสิทธิ์ และห่วงรายได้กันมากเข้าๆ แล้วจะเอาจิตใจที่ไหนมาห่วงความรู้ ความดี ความเจริญของเด็ก ความห่วงใยในสิ่งเหล่านั้นก็จะค่อยๆบั่นทอนทำลายความเป็นครูไปจนหมดสิ้นจะไม่มีอะไรดีเหลือไว้ พอที่ตัวเองจะภาคภูมิใจหรือผูกใจใครไว้ได้ ความเป็นครูก็จะไม่มีค่าเหลืออยู่ให้เป็นที่ เคารพบูชาอีกต่อไป"
พระราชดำรัส พระราชทานแก่ครูอาวุโส
ในโอกาสเข้าเฝ้าฯ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันเสาร์ที่ 21ตุลาคม 2521
“ผู้ที่เป็นครู จะต้องถือเป็นหน้าที่อันดับแรก ที่จะต้องให้การศึกษา คือสั่งสอนอบรมอนุชน ให้ได้ผลแท้จริง ทั้งในด้านวิชาความรู้ ทั้งในด้านจิตใจและความประพฤติ ทั้งต้องคิดว่า งานที่แต่ละคนกำลังทำอยู่นี้ คือเป็นความตายของประเทศ เพราะอนุชนที่มีความรู้ความดีเท่านั้น ที่จะรักษาบ้านเมืองไว้ได้”
“งานของครูเป็นงานพิเศษ ผิดแปลกกว่างานอื่น ๆ กล่าวในแง่หนึ่งที่สำคัญ ก็คือครูจะหวังผลตอบแทนเป็นยศศักดิ์ ความร่ำรวย หรือผลประโยชน์ทางวัตถุเป็นที่ตั้งไม่ได้ ผลได้ส่วนสำคัญจะเป็นผลทางใจและภูมิใจอยู่แล้ว
ความเป็นครูนั้นผูกพันใจคนไว้ได้โดยอัตโนมัติ ไม่ต้องซื้อหาหรือใช้อำนาจราชศักดิ์ข่มขู่เอามา ขึ้นชื่อว่าครูกับศิษย์แล้วที่จะลืมตัวมัวเมาในลาภยศอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่เท่านั้น
ฉะนั้นครูจึงไม่มีเหตุอันใดที่จะต้องแสวงหาความพอใจในประโยชน์ทางวัตถุให้มากจนเกินความจำเป็น เพราะหากหันมาหาประโยชน์ทางวัตถุเกินไปแล้ว ก็จะทำหน้าที่ครู หรือเป็นครูได้ไม่เต็มที่ ”
“จิตใจของครูสมัยก่อนนั้น มากด้วยความเมตตา ความเมตตาทำให้ครูเห็นแก่ศิษย์ยิ่งกว่าเห็นแก่ตัว จึงมุ่งที่จะสอนและอบรมศิษย์ให้มีความดีและความรู้ สามารถเสียสละ ความสุข ความสะดวกสบาย แม้แต่ความสุขความคะนองได้ เพื่อประโยชน์ของศิษย์ ครูของไทยจึงมัดจิตใจศิษย์ ให้ความเคารพรักใคร่ได้มั่นคง”