เศรษฐกิจพอเพียง ปรัชญาที่นานาชาติให้การยอมรับ(๒ สิงหาคม ๒๕๕๔)
นับแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงขึ้นครองราชย์จวบจนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า ๖๕ ปี พระองค์ทรงประกอบพระราชกรณียกิจด้วยพระราชหฤทัยมุ่งมั่น เพื่อบำบัดความทุกข์ยากและเพื่อประโยชน์สุขของอาณาประชาราษฎร์อย่างต่อเนื่องเสมอมา และหนึ่งในนั้นที่สามารถเอื้อต่อทุกกลุ่มชน ทุกหมู่เหล่าและระดับชั้นตลอดถึงความอยู่รอดของประเทศชาติและสังคมไทยในภาวะกระแสโลกาภิวัตน์ นั่นก็คือ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”
เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาที่ชี้แนวทางการดำรงชีวิต ที่เป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศไทยให้สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนในกระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ นักวิชาการจำนวนมากในสังคมไทย ได้ร่วมแสดงความคิดเห็น โดยเชื่อมโยงแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงเข้ากับวัฒนธรรมชุมชน และได้ช่วยให้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในสังคมไทย จวบจนเมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๒ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้รับการเชิดชูเป็นอย่างสูงจากองค์การสหประชาชาติ ว่าเป็นปรัชญาที่มีประโยชน์ต่อประเทศไทยและนานาประเทศ และสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกยึดเป็นแนวทางสู่การพัฒนาประเทศตนแบบยั่งยืน และในปัจจุบันมีประเทศต่าง ๆ ที่เป็นสมาชิกสหประชาชาติ ได้ส่งเจ้าหน้าที่เดินทางมาศึกษาดูงานโดยเฉพาะแนวทางการน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปปฏิบัติใช้ของราษฎรไทยที่เป็นส่วนขยายผลของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้ง ๖ ศูนย์ทั่วประเทศเพื่อนำไปขยายผลให้กับประชากรของประเทศตนเองปฏิบัติใช้กันอย่างต่อเนื่อง
ราชบัณฑิตยสถานพิจารณาเห็นว่าหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นหลักการดำเนินชีวิตที่มีคุณค่า จะนำไปสู่ความสุขสันติและความร่มเย็นผาสุกทั้งในหมู่ปวงชนชาวไทยและแม้ในหมู่ประชาชนของโลก ประกอบกับปีนี้รัฐบาลและประชาชนจะจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระราชกรณียกิจพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ ราชบัณฑิตยสถานจึงได้จัดการประชุมทางวิชาการนานาชาติ เรื่อง บทบาททางวิชาการขององค์การปราชญ์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตมนุษย์ในยุคโลกาภิวัตน์ขึ้น ในระหว่างวันที่ ๑๖ – ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ ณ โรงแรมดุสิตธานี เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร